กวยอาเจียง
 หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง เป็นสถานที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมวิถีความเป็นอยู่ ความผูกพัน ของคนในชุมชนและช้าง รวมทั้งประเพณี และวัฒนธรรมที่น่าชื่นชมอย่างใกล้ชิด ชาวบ้านตากลาง แต่ละครัวเรือนจะมีช้างที่เลี้ยงไว้อาศัยอยู่รวมกัน จนช้างที่พวกตนเลี้ยงไว้เปรียบเสมือนเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของตน ก่อให้เกิดสายใยความผูกพันที่แน่นเฟ้นขึ้น ระหว่างคนกับช้าง ณ บ้านตากลาง จ. สุรินทร์ ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้านช้างเลี้ยงใหญ่ที่สุดในโลก
ชาวบ้านตากลาง ดั้งเดิมเป็น ชาวส่วย (กูย) หรือ กวย ที่มีความชำนาญในการคล้องช้างป่า ฝึกหัดช้าง และเลี้ยงช้าง ส่วนมากต้องเดินทางไปคล้องช้างบริเวณชายแดนต่อเขตประเทศกัมพูชาประชาธิปไตย ปัจจุบันสภาวะการเมืองระหว่างประเทศทำให้ชาวบ้านตากลาง ไม่สามารถไปคล้องช้าง เช่นแต่ก่อนได้ แต่ชาวบ้านตากลางยังคงเลี้ยงช้าง และฝึกช้างเพื่อไปร่วมแสดงในงานช้างของจังหวัดทุกปี


ชาวกูยนับถือ "ผีปะกำ" เป็นที่เคารพบูชาร่วมกันของคนในตระกูล โดยมีโรงปะกำตั้งอยู่ด้านหน้าของบ้านต้นตระกูล แล้วทำพิธีเซ่นไหว้ผีปะกำประจำตระกูลในโอกาสต่าง ๆ เช่น การเซ่นไหว้ประจำปี หรือเมื่อจะออกไปและกลับมาจากการเดินทางไกลก็ต้องบอกกล่าวผีปะกำ เมื่อกลับมาก็เซ่นสรวงอีกครั้ง หรือในวาระที่ครอบครัวมีงานสำคัญ เช่น บวชนาค หรืองานแต่งงาน การสู่ขอหญิงสาวที่อยู่ในบ้านที่นับถือผีปะกำ ก็จะต้องสู่ขอและเซ่นผีปะกำก่อน รวมถึงกรณีที่เกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บไข้ได้ป่วย โดยเชื่อว่ามูลเหตุมาจากการล่วงละเมิดหรือผิดผีปะกำนั่นเอง




หมอช้างจะแต่งกายเพื่อบอกให้รู้ว่า หมอช้างคนใดอยู่ระดับใด โดยการสวมใส่ "ชนัก" ห้อยที่คอ
สายชนักทำด้วยทองเหลือง เหล็กฟั่นเป็นเกลียวต่อกันเป็นสามห่วง คล้ายบังเหียนม้าสำหรับหมอช้างที่อยู่บนคอช้าง อาศัยหัวแม่เท้าสอดคีบเชือกชนักเป็นหลักมั่นมิให้พลัดตกลงมาเมื่อวิ่งไล่ตามช้างป่า
"ชนัก" ใส่ไว้เพื่อแสดงตำแหน่งของหมอช้างแต่ละบุคคล "หมอสะดำ" ซึ่งมีตำแหน่งรองจากครูบาใหญ่ ชนักของท่านจะเป็นสีทองเหลือง "หมอสะเดียง" ชนักของท่านจะเป็นสีเงิน "หมอจา" ชนักของท่านจะเป็นสีทองแดง
"กระไทครู" เป็นเครื่องรางของขลังที่ทุกคนต้องคาดไว้ที่เอว ข้างในมีเขี้ยวหมูตัน จันทคราสอากาศช้าง หนึ่งหมาดคุณ ขนเต่า เขากระต่าย 
"มหาสวัก" เป็นไม้ธรรมชาติที่กอดรัดกันเองตามธรรมชาติ 
สายชนักเป็นมรดกตกทอดต่อๆกันมา จะใส่และนำติดตัวไปตลอด ส่วนเชือกที่ห้อยห่วงนั้นเมื่อขาดหรือชำรุดก็จะหาเชือกมาใส่ใหม่ ส่วนกระไทครูนั้นมีเครื่องรางของขลังทุกชนิดอยู่ภายใน ทำจากผ้าทอมือเมื่อมีการขาดหรือชำรุดก็จะมีการเปลี่ยนผ้าใหม่ ส่วนผ้าถุงและผ้าพาดบ่าจะเป็นไหมน้อย เป็นผ้าทอมือที่ครอบครัวทอขึ้นเอง สีไม่ตก ซักแล้วสีไม่ซีด

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้